ฝันของใครหลายๆ คนที่กำลังเริ่มต้นมีครอบครัว คงหนีไม่พ้นการซื้อบ้าน เพื่อเป็นทรัพย์สินของครอบครัวชิ้นแรก ดังนั้น หากคุณกำลังมองหาบ้านหรือคอนโดฯ สักแห่ง นอกจากเรื่องของทำเลแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ งบประมาณในการซื้อบ้าน ข้อแนะนำในเรื่องการวางแผนสำหรับการซื้อบ้านมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ การเตรียมตัวก่อนขอสินเชื่อ และ ปัจจัยที่ช่วยให้ผ่อนสบายกระเป๋า
ขอเริ่มที่เรื่องแรกก่อน คือ ในเตรียมตัวเตรียมใจก่อนขอสินเชื่อ มีสิ่งที่ต้องเตรียมดังนี้
1. เตรียม Statement ให้พร้อม หากคุณมีอาชีพทำงานประจำมีรายได้จากเงินเดือน สามารถใช้ Slip เงินเดือนหรือ หนังสือรับรองฯ 50 ทวิ ในการยืนยันรายได้ หากคุณมีอาชีพอิสระค้าขายทั่วไป ไม่มีเงินเดือนประจำ ก็สามารถกู้ได้ โดยต้องเตรียมหลักฐานแสดงที่มาที่ไปของเงินให้มีความชัดเจน เช่น บัญชีเงินฝากที่มียอดรายได้เข้าสม่ำเสมอ การเดินบัญชีกระแสรายวัน การใช้เช็ค เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นใจในการชำระหนี้คืนได้
2. รักษาเครดิต ในการขอสินเชื่อต้องมีการตรวจสอบสถานะสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาก่อน โดยการตรวจสอบเครดิตบูโร ดังนั้น ควรจะรักษาเครดิตไว้ให้ดี เพื่อมิให้เป็นข้อจำกัดในการขอสินเชื่อได้
3. เตรียมออมเงินให้เพียงพอ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการซื้อบ้านในปัจจุบันคือ เงินดาวน์บ้าน คุณควรกันเงินสำรองฉุกเฉินไว้อย่างน้อย 6 เดือนก่อนกู้บ้าน และเตรียมเงินดาวน์อย่างน้อย 10% ของราคาบ้านที่ตั้งใจไว้ ยิ่งมีมากก็ช่วยลดภาระการผ่อนชำระลง เวลาขอสินเชื่อจะได้ผ่อนอย่างสบายกระเป๋า
หลังจากที่เตรียมตัวแล้ว ถึงเวลาจะจะกู้บ้านให้สบายกระเป๋า มี 4 ปัจจัยที่ต้องคำนึง คือ
1. เงินดาวน์มีเท่าไร ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น กำหนดให้ผู้ที่จะซื้อบ้านต้องมีเงินดาวน์ไม่น้อยกว่า 10% ของราคาบ้าน ดังนั้น หากจะซื้อบ้านราคาสัก 3 ล้านบาท จะต้องมีเงินเก็บเพื่อเป็นเงินดาวน์อย่างน้อย 3 แสนบาท หากมีเงินดาวน์มากกว่าก็จะทำให้ประหยัดค่าดอกเบี้ยลงไปได้
2. ยอดผ่อนชำระต่อเดือน ปกติแล้วภาระการผ่อนรายเดือนที่ไม่หนักจนเกินไป ไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ก่อนภาษี หากรายได้คนเดียวผ่อนไม่ไหว สามารถกู้ร่วมได้ ทั้งนี้ การกู้ร่วม ผู้กู้ร่วมต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด หรือเป็นสามีภรรยา
3. ระยะเวลาในการผ่อนชำระ ปกติจะผ่อนสูงสุดไม่เกิน 30 ปี เนื่องจากระยะเวลาผ่อนเมื่อรวมกับอายุของผู้กู้แล้ว ต้องไม่เกิน 60-65 ปี (ช่วงอายุเกษียณ) ระยะเวลาผ่อนสั้น ยอดผ่อนชำระรายเดือนจะมากกว่าระยะเวลาผ่อนยาว หากมีความสามารถในการผ่อนสูงสามารถเลือกผ่อนสั้นได้เพื่อให้หมดภาระได้เร็วและประหยัดค่าดอกเบี้ยจ่าย
4. รูปแบบอัตราดอกเบี้ย ปัจจุบันสถาบันการเงินมีทางเลือกให้กับผู้ขอสินเชื่อ ว่าจะผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ หรือ แบบลอยตัว ผู้ขอสินเชื่อควรเลือกอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ เมื่ออัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และ ควรเลือกอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เมื่ออัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง
ปกติทั่วไป หากขอสินเชื่อ จำนวน 1 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อน 30 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 7% ต่อปี จะมียอดผ่อนชำระประมาณ 8,000 บาทต่อเดือน ลองพิจารณาปัจจัยดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้นว่า จะผ่อนบ้านอย่างไรให้สบายกระเป๋ากัน
หลังจากพิจารณาปัจจัยดังกล่าวแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การวางแผน ก็คือ การนำแผนมาปฏิบัติการ เนื่องจากเงินดาวน์เป็นก้าวแรกสำหรับการซื้อบ้าน ดังนั้น การเก็บออมเงินดาวน์ให้บรรลุเป้าหมายนั้น จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การบรรลุเป้าหมายเป็นได้ การออมเงินดาวน์ให้มีผลตอบแทนที่เหมาะสม และ มีสภาพคล่องในการแปลงเป็นเงินสดได้ เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาสำหรับแผนปฏิบัติการ คุณอาจจะพิจารณาเก็บออมในรูปของกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อให้มีสภาพคล่อง และมีผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป
นอกจากนี้ ในการกู้บ้านอย่าลืมพิจารณาปัจจัยเรื่องการวางแผนภาษี เนื่องจากกรมสรรพากรให้สิทธิสำหรับผู้ที่ซื้อบ้านสามารถนำดอกเบี้ยจ่ายมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เป็นการบรรเทาค่าใช้จ่ายทางภาษีของคุณได้อีกทางหนึ่ง (เพิ่มเงินในกระเป๋ามากขึ้น) และเพื่อให้การวางแผนภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านหรือคอนโดฯ ก็เป็นเรื่องสำคัญในการวางแผนภาษีด้วย
ขอขอบคุณบทความดีๆจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันที่ 30 สิงหาคม 2554