การตรวจสอบระบบไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ต้องใช้ประสบการณ์ และความชำนาญพอสมควร ดังนั้นการตรวจสอบที่จะพูดถึงต่อไปนี้จะเป็นวิธีการตรวจสอบอย่างคร่าวๆ เท่านั้น ลองไปดูกันครับว่ามีอะไรบ้างที่เราควรตรวจสอบครับ
เริ่มกันที่การตรวจสอบ มิเตอร์ไฟฟ้ากับเบรกเกอร์ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กัน โดยให้สังเกตตัวเลขที่ปรากฏบริเวณมิเตอร์ ถ้าเป็นตัวเลข 15(45)A หมายถึง มิเตอร์ไฟฟ้านั้นเป็นขนาด 15A/45A (ตัวเลข 15 แอมป์ ตัวแรกคือ ค่ากระแสของมิเตอร์ใช้งานปกติ สามารถใช้ต่ำกว่าได้ไม่มีปัญหา ตัวเลข 45 แอมป์ ตัวหลังคือ ค่ากระแสที่มิเตอร์นั้นรับได้สูงสุด ถ้าคุณใช้มากกว่านั้น มิเตอร์จะชำรุดเสียหายหรือไหม้ได้) เบรกเกอร์หลักก็จำเป็นต้องมีขนาดสัมพันธ์กันด้วยคือมีขนาดประมาณไม่เกิน 50A นั่นเอง
ถ้าสมมุติว่าตัวเลขคือ 30(100)A หมายถึง มิเตอร์ไฟฟ้านั้นเป็นขนาด 30A/100A โดยเบรกเกอร์หลักก็ควรมีขนาดไม่เกิน 100A นอกจากนี้ควรมีการแยกเบรกเกอร์ออกเป็นส่วนๆ อย่างเช่น ภายในกับภายนอก หรือ แบ่งตามชั้นของอาคาร ก็จะสามารถทำให้สะดวกสำหรับการตรวจสอบ ซ่อมแซม ปรับปรุงในภายหลัง
อย่างที่สองคือ การตรวจสอบสายไฟ สำหรับสายไฟที่อยู่ในจุดที่สามารถมองเห็นได้ ให้สังเกตสภาพของสายไฟ ต้องไม่มีรอยชำรุด แตก รอยไหม้ หรือรอยกัดแทะของแมลงหรือหนู หรือสีของสายไฟเปลี่ยนจากสีขาวนวลไปเป็นสีเหลือง สำหรับในส่วนที่มองไม่เห็นอย่างเช่นสายไฟที่ซ่อนอยู่บนฝ้าเพดาน ก็ให้ถามกับเจ้าของบ้านถึงอายุการใช้งานของสายไฟ ซึ่งโดยปกติสายไฟทั่วๆ ไปจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7-8 ปี หากพบว่าสายไฟมีอายุการใช้งานมาแล้ว 5-6 ปี ก็ให้เตรียมพร้อมเปลี่ยนสายไฟใหม่ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้หมดอายุก่อน เพราะอาจเสี่ยงต่อไฟฟ้าลัดวงจร หรือเพลิงไหม้ได้
นอกจากนั้นควรตรวจสอบอุณหภูมิของสายไฟ โดยใช้หลังฝ่ามือสัมผัสสายไฟ หากรู้สึกอุ่นหรือร้อนแสดงว่าอาจมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น อาจเนื่องมาจากการใช้ขนาดของสายไฟไม่เหมาะสมกับปริมาณการใช้ไฟฟ้า โดยขนาดของสายไฟควรสัมพันธ์กับขนาดของเบรกเกอร์ที่ติดตั้งอยู่ตามจุดย่อย ต่างๆ ภายในบ้านดังนี้
ขนาดเบรกเกอร์ | ขนาดสายไฟ (ตร.มม.) |
10-15A | 2.5 |
20A | 4.0 |
30A | 6.0 |
40A | 10.0 |
50A | 15.0 |
60A | 25.0 |
80A | 35.0 |
100A | 50.0 |
อย่างที่สามคือ การตรวจสอบปลั๊กไฟ สำหรับการตรวจสอบปลั๊กไฟให้สังเกตสภาพของปลั๊กไฟว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ไม่มีรอยแตก รอยไหม้ หากเป็นปลั๊กไฟที่อยู่ในจุดเสี่ยงที่จะมีโอกาสโดนน้ำ อย่างเช่น นอกบ้าน หรือห้องน้ำ ควรมีฝาปิดกันน้ำ เพื่อป้องกันการลัดวงจรของกระแสไฟฟ้า
อย่างสุดท้ายคือ การตรวจสอบระบบไฟฟ้าแสงสว่าง อย่างแรกควรทดสอบด้วยการทดลองเปิดไฟฟ้าแสงสว่างทุกดวงทั้งภายในและภายนอก แล้วลองปิดสวิทซ์แล้วเปิดใหม่ทันที 2-3 ครั้งกับไฟฟ้าทุกดวง เพื่อทดสอบระบบไฟฟ้าแสงสว่างทั้งระบบว่าทำงานเป็นปกติหรือไม่ สำหรับสวิทซ์ไฟฟ้าแบบสองทางก็ให้ตรวจสอบว่าสามารถควบคุมการเปิด-ปิดของหลอด ไฟฟ้าได้จากสวิทซ์ทั้ง 2 ตัวหรือไม่ หลังจากนั้นให้ลองสังเกต ว่าหลอดไฟฟ้าที่เปิดอยู่มีเสียงผิดปกติหรือไม่ เช่น เสียงไฟสปาร์ก หรือเสียงหึ่งๆ ของอุปกรณ์ ถ้าพบเสียงดังกล่าว แสดงว่าอาจเกิดความผิดปกติขึ้นในวงจรไฟฟ้า เช่น สายไฟที่ติดตั้งไม่สนิท หรือขั้วหลอดหลวม
หากท่านมีโอกาสได้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าแสงสว่างในสภาพบ้านที่มืดพอสมควร ให้ตรวจสอบดูด้วยว่าเมื่อปิดสวิทซ์แล้ว ยังมีหลอดไฟดวงไหนยังคงเรืองแสงอยู่หรือไม่ หากพบว่ามีแสดงว่ามีการต่อสายไฟฟ้าเข้าหลอดผิดเส้น คือแทนที่จะต่อสายไฟฟ้าเส้นศูนย์เข้าหลอดไฟ กลับต่อสายไฟฟ้าเส้นที่เป็นตัวผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าหลอดไฟ ถ้าสังเกตเห็นก็ควรรู้เอาไว้ว่าต้องมีการแก้ไขในภายหลังอย่างแน่นอนหากเรา ตัดสินใจซื้อบ้านหลังนั้น
นอกจากนี้หากมีโอกาสได้ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นซึ่งคาดการณ์ว่าเจ้าของบ้าน คงไม่ถอดขนย้ายออกไป อย่างเช่น เครื่องปรับอากาศ พัดลมระบายอากาศ หรือเครื่องทำน้ำอุ่น ก็ให้ลองทดสอบการใช้งานดูว่าอยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ดีหรือไม่ เพื่อเอาไว้ใช้สำหรับประกอบการตัดสินใจในภายหลัง
วิธีการตรวจสอบทั้งหมดเป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้นเท่านั้น หากท่านตัดสินใจเลือกซื้อบ้านมือสองหลังใดแล้ว ก่อนจะย้ายเข้าไปอยู่ควรให้ช่างไฟฟ้าซึ่งมีความชำนาญตรวจเช็คระบบไฟฟ้าภายใน บ้านอีกครั้งเพื่อความอุ่นใจนะครับ
ที่มา – บรรณาธิการเว็บไซต์บ้านและสวน