ผ่านพ้นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่มาได้เกือบครึ่งปีแล้ว สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์นับวันก็มีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเห็นได้จากผลประกอบการของหลายบริษัทยังคงกลับมาได้ดีเหมือนเดิม รวมทั้งการเปิดตัวโครงการใหม่ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในภาคสนามของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้จัดสัมมนาวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ปี 2555 กรุงเทพฯ -ปริมณฑลขึ้น ซึ่งมีข้อมูลที่ฉายภาพของตลาดอสังหาฯ ไว้อย่างน่าสนใจ
โครงการเปิดขาย1.65แสนหน่วย
จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูล ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีโครงการบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่ทั้งสิ้น 56 โครงการ รวม 6,939 หน่วย ขณะที่มีโครงการที่เปิดการขายมาก่อนหน้านี้ 838 โครงการ รวม 165,000 หน่วย เป็นหน่วยที่ขายได้แล้วประมาณ 98,800 หน่วย และเหลือขายประมาณ 66,200 หน่วย ซึ่งจากจำนวนทั้งหมดนี้พบอยู่ในเขตกรุงเทพฯ 369 โครงการ หรือประมาณ 60,900 หน่วย เขตนนทบุรี 160 โครงการ จำนวน 34,300 หน่วย เขตปทุมธานี 124 โครงการ จำนวน 30,600 หน่วย เขตสมุทรปราการ 122 โครงการ จำนวน 26,800 หน่วย เขตสมุทรสาคร 33 โครงการ จำนวน 7,900 หน่วย และในเขตนครปฐม 30 โครงการ จำนวน 4,600 หน่วย
ด้านโครงการบ้านจัดสรรทั้งหมด แบ่งเป็นโครงการบ้านเดี่ยว 41% ทาวน์เฮาส์ 47% และอีก 12% เป็นบ้านแฝด อาคารพาณิชย์ และที่ดินเปล่าจัดสรร แยกตามระดับราคาพบว่า บ้านจัดสรรราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ประมาณ 53,700 หน่วย หรือ 54% ราคาตั้งแต่ 3-4.99 ล้านบาท ประมาณ 49,400 หน่วย หรือ 30% และราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป ประมาณ 61,900 หน่วย หรือ 16% โดยจำนวนทั้งหมดมีโครงการที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 94,200 หน่วย อยู่ระหว่างก่อสร้าง 35,300 หน่วย และยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง 35,500 หน่วย
สำหรับอาคารชุดจากผลสำรวจพบว่าปัจจุบันในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลมีโครงการอาคารชุดเปิดขายอยู่ทั้งสิ้น 358 โครงการ ประมาณ 139,900 หน่วย มูลค่าโรงการทั้งสิ้นประมาณ 479,000 ล้านบาท ในจำนวนทั้งหมดนี้ขายแล้วประมาณ 97,000 หน่วย เหลือขาย 42,000 หน่วย แยกตามพื้นที่อยู่ในกรุงเทพฯ 308 โครงการ หรือประมาณ 117,200 หน่วย เขตสมุทรปราการ 25 โครงการ ประมาณ 9,700 หน่วย เขตนนทบุรี 21 โครงการ ประมาณ 11,600 หน่วย เขตปทุมธานี 2 โครงการ ประมาณ 1,300 หน่วย และในเขตนครปฐม 2 โครงการ ประมาณ 150 หน่วย
4เดือนคอนโดฯ บูม
ในรอบ 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ามีโครงการเปิดขายใหม่ 106 โครงการ แบ่งเป็นโครงการประเภทอาคารชุด 50 โครงการ ประมาณ 24,000 หน่วย ซึ่งมากกว่าที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีการเปิดขาย 56 โครงการ ประมาณ 6,500-7,000 หน่วยเท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของตลาดอสังหาฯในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้ซื้อมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมน้อยลง การเปิดโครงการใหม่ช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการคอนโดฯ ส่วนหนึ่งมาจากโครงการที่ชะลอการเปิดตัวจากปีที่แล้ว แต่ทั้งนี้เชื่อว่าในช่วง 8 เดือนหลังที่เหลือโครงการแนวราบจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง คาดว่าจะมีการเปิดตัวโครงการประมาณ 70-80 โครงการ ซึ่งปัจจัยที่จะส่งเสริมให้ภาคอสังหาฯมีการขยายตัวมากจากการเปิดโครงการใหม่ที่สำคัญจากนี้ต้องเกาะแนวรถไฟฟ้า หรือทำที่มีการคมนาคมสะดวก โดยในพื้นที่นนทบุรี ปทุมธานี แจ้งวัฒนะ บางปะอิน บางซื่อ เกษตร-นวมินทร์ ตลิ่งชัน ราษฎร์บูรณะ บางกะปิ มีนบุรี บางนา และสมุทรปราการ คาดว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดินแล้วเสร็จ
ส่วนพื้นที่ในต่างจังหวัดช่วงที่ผ่านมาก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น จากการที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ออกไปพัฒนาโครงการกันมากขึ้น ได้แก่ จังหวัดชลบุรีที่มีแนวโน้มว่าจะในปีนี้จะมีโครงการเปิดใหม่มากถึง 20 โครงการ อำเภอหัวหิน-ชะอำ ประมาณ 10 โครงการ รวมไปถึงจังหวัดขอนแก่น ภูเก็ต และหาดใหญ่ด้วย
5ปัจจัยคุมตลาด
ช่วงของการสัมมนา “วิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ปี 2555” นั้น ได้มีวิทยากรที่ได้ฉายภาพทิศทางของธุรกิจอสังหาฯ ของปีนี้ในแง่มุมที่น่าสนใจ อย่างเช่น นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ระบุว่าทิศทางในอนาคตของวงการอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 ประการ ประการแรก คือผังเมืองรวมกทม. แม้ผังเมืองจะมีแนวโน้มกลับไปยึดเกณฑ์ความกว้างถนนในการก่อสร้างอาคารตามผังเมืองกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2549 แล้ว แต่ผู้ประกอบการก็ยังกังวล ไม่กล้าพัฒนาคอนโดมิเนียม จนกว่าจะผ่านพ้นการติดประกาศเพื่อให้ประชาชน รับทราบและยื่นข้อร้องเรียน 90 วัน ประการที่สอง คือค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับสูงขึ้น ประการที่สาม คือปัญหาแรงงานขาดแคลน ประการที่สี่ คือผู้รับเหมาก่อสร้างมีงานล้นมือ ประการสุดท้าย คือราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น
ด้านนายอารีศักดิ์ เสถียรภาพอยุทธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มองว่า เหตุการณ์น้ำท่วมปีที่ผ่านมา ทำให้โครงการโซนนนทบุรี 12 โครงการของบริษัทถูกน้ำท่วมทั้งหมด และคาดว่าการซื้อขายบ้านจะซบเซาจนถึงปี 2556 แต่สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น ผู้เข้าชมโครงการในจังหวัดนนทบุรีช่วงเดือนมีนาคมลดลง 84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา บริษัทยังสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับความกังวล พบว่า สาเหตุที่ผู้บริโภคไม่เข้าชมโครงการมากที่สุด เป็นเพราะเป็นพื้นที่น้ำท่วม 70% รอดูสถานการณ์ 15% ยังมีภาระซ่อมบ้าน 12% จากการสำรวจสถานการณ์เพิ่มเติมในเดือน3 เดือนแรก พบว่า สาเหตุที่ลูกค้าไม่จอง เพราะย้ายไปทำเลน้ำไม่ท่วม 35% เปลี่ยนใจไปซื้อคอนโดฯ ในเมือง 22% รอดูสถานการณ์น้ำ 18% โดยลูกค้าที่ย้ายทำเลย้ายไปไม่ไกลจากโซนน้ำท่วมนักราว 1-5 กิโลเมตร
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,741 20-23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555