น้ำท่วมแล้ว น้ำลดแล้ว บ้านมีปัญหา เริ่มต้นที่ไหนดี ตอนที่1

บังเอิญผมไปเจอบทความดีๆของ อ.ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ เกี่ยวกับการแก้ไขบ้านหลังน้ำท่วมลองไปดูกันครับ

1. น้ำท่วมแล้ว น้ำลดแล้ว บ้านมีปัญหา เริ่มต้นที่ไหนดี
– ทำการตรวจสอบว่า บ้านเราเกิดปัญหาใดเพิ่มขึ้นบ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนน้ำท่วม เช่น รั้วเอียง ปาร์เกต์ล่อน แมลงสาบหายไปไหน ค่าไฟเพิ่ม ฯลฯ และ ทำบันทึกไว้เป็นข้อๆ ให้อ่านง่ายจดจำง่าย

– ถามตนเองว่า สภาพการเงินเราเป็นอย่างไร มีเงินจะใช้สำหรับการซ่อมแซมเท่าไร จะได้วางแนวทางการจ่ายเงินอย่างมีขีดจำกัด และมีความเป็นไปได้

2. แต่ท่วมถนนซอยหน้าบ้าน ต้องทำอะไรมั๊ยหนอ
น้ำไม่ท่วมตัวบ้านหรือแม้แต่บริเวณสนามหญ้าในบ้าน แต่ท่วมที่ถนนหน้าบ้านอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ก็ไม่น่าจะวางใจนัก เพราะส่วนที่บ้านเรากับทางสาธารณะจะต้องเชื่อมประสานกันมากที่สุด และเรามักจะมองข้ามไปก็คือ “ท่อระบายน้ำ” ที่ถ่ายเทน้ำจากบ้านเราระบายออกสู่ท่อระบายน้ำของหลวง
ในยามที่น้ำท่วมทางสาธารณะ แน่นอนน้ำจะต้องท่วมท่อระบายน้ำของหลวงท่านด้วย น้ำในบ้านเราก็เลยไม่ระบายออก แถมในทางกลับกัน น้ำในท่อระบายน้ำสาธารณะอาจจะไหลกลับเข้าสู่บ้านเราได้
เมื่อมีการไหลกลับเช่นที่ว่า นอกจากจะพาเอาน้ำเข้ามาแล้วยังน่าจะพาเอาเศษดินโคลนต่างๆ เข้ามาด้วย เมื่อน้ำค่อยๆ ลดลง เศษดิน โคลนก็จะกองติดอยู่ในท่อระบายน้ำบ้านเรา ท่อระบายน้ำบ้านเราที่เล็กอยู่แล้วก็จะเกิดอาการอุดตันหรือมีพื้นที่ว่างเหลือน้อยกว่าปกติ แนวทางในการแก้ไขและข้อควรจะระวัง น่าจะมีดังต่อไปนี้
– หากเป็นท่อระบายน้ำระบบมีฝาเปิดตลอดแนว ก็เปิดฝาแล้วตักไอ้เจ้าดินโคลนเศษขยะนั้นออก

– หากเป็นท่อระบบไม่มีฝาเปิดตลอด ก็เอาไม้ยาวๆ ควานดู หากทำไม่ได้ ทำไม่เป็น ทำไม่ไหว ขี้เกียจทำ ก็ไปจ้างคนอื่นเขาทำ
– อย่าพยายามใช้น้ำฉีด เพราะจะเปลืองน้ำมากและยังคงทำความสะอาดท่อลำบาก แถมยังทำบาปกับคนอื่นเขา เพราะเจ้าเศษโคลนทั้งหลายจะระบายลงสู่ท่อสาธารณะ ทำให้ท่อของหลวงท่านอุดตันตื้นเขิน …อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมบ้านท่วมเมือง เนื่องจากระบายน้ำไม่ได้อย่างที่น่าจะเป็น
– เมื่อทำการกวาดล้างเสร็จแล้ว ลองตรวจสอบอีกครั้งดูว่า ระดับน้ำในท่อระบายน้ำเรานั้นไหลไปทางไหน ขอให้แน่ใจว่า จะไหลออกจากบ้านเรา สู่ท่อสาธารณะ หากยังไหลกลับทางกัน กรุณากลับไปอ่าน ข้อที่หนึ่งใหม่
– หากหน้าบ้านท่านไม่มีท่อระบายน้ำสาธารณะ ก็ให้ตรวจสอบว่าน้ำไหลไปทางไหน ระบายออกทางไหน และให้ถือว่าจุดที่น้ำระบายออกจากบ้านเราเป็นทางสาธารณะไปก่อน (หวังว่าบ้านท่านคงจะไม่ระบายน้ำสะเปะสะปะผิดกฎหมายนะครับ)

3. รั้วคอนกรีตที่แข็งแรงของผม ต้องตรวจดูอะไรหลังน้ำลดไหม
ปัญหาที่อาจจะเกิดกับรั้วของท่านก็เป็นเรื่องจากยามน้ำท่วม ดินที่ฐานรั้วท่านอาจจะอ่อนตัวลง ความสามารถในการรับน้ำหนักอาจจะน้อยลงหรือระดับที่ดินในบ้านกับนอกบ้านท่านมีระดับแตกต่างกัน ยามเมื่อน้ำที่ท่วมลดลงอาจจะเกิดแรงดูด ทำให้รั้วของท่านเอียงไปก็ได้หรือในขณะที่น้ำท่วมรั้วของท่านอาจต้องทำหน้าที่เป็น “เขื่อน” ที่ต้องรับน้ำหนักน้ำเป็นอย่างมาก ความสามารถในการรับน้ำหนักอาจ “คลาก” ความแข็งแรงลดลงไปได้ ดังนั้นเพื่อความมั่นใจกรุณาตรวจสอบ และหาแนวทางแก้ไขดังนี้
– ใช้สายตาของท่านเล็งดูว่ารั้วของท่านยังตั้งฉากอยู่ดีหรือไม่ หากมีการเอียงเล็กน้อยก็เอาไม้ค้ำยันด้านที่เอียงออก เอาไว้ก่อน มีสตางค์เมื่อไรก็รีบซ่อมทันที

 

– หากตรวจสอบแล้วปรากฏว่า รั้วของท่านเอียงมาก เอียงจนแนวออกหรือจะออกนอกแนวศูนย์ถ่วง (C.G.) ต้องรีบซ่อมแซมทันที (โดยช่างก่อสร้างที่พอจะมีความรอบรู้) หากยังไม่มีงบประมาณก็ต้องค้ำยันไว้อย่างแน่นหนามากๆ เพราะน้ำหนักรั้วที่แข็งแรงของท่านนั้นหนักมาก

 

– หากรั้วของท่านมีคานคอดิน (คานตัวล่างสุดที่อยู่ใกล้ระดับดิน) รับน้ำหนักรั้วอยู่ พอน้ำลดลง น้ำอาจพาดินใต้คานคอดินของท่านออกไปด้วยก็จะเกิดรูโพรงใต้คานรั้วของท่าน อันอาจเป็นเหตุให้สัตว์ต่างๆ เดิน-วิ่ง-มุด-เลื้อยเข้าไปในบ้านของท่านได้ หรือไม่ก็ทำให้ดินของท่านไหลออกจากบ้านสู่ทางสาธารณะไปเรื่อยๆ ภายหลัง (อันทำให้ดินของท่านหมด สนามและถนนสาธารณะต้องสกปรก) ก็ขอให้เติมดินอัดกลับเข้าไปให้คงเดิม

 

– นอกจากจะตรวจดูที่รั้วบ้านแล้ว ท่านน่าจะต้องตรวจดูที่ประตูรั้วท่านด้วย เพราะประตูส่วนใหญ่จะทำด้วยเหล็กหรือไม้ (พวกอัลลอยด์ไม่ค่อยเป็นอะไร ยกเว้นบริเวณบานพับหรือกลอนที่อาจจะทำด้วยเหล็ก) อาจมีอาการผุกร่อนได้ ทำให้บานประตูไม่สามารถปิดได้เหมือนเดิมหรืออาจจะหลุดออกมาทั้งบาน!!! ทำการผูกรัดให้แข็งแรงเสีย มีเงินเมื่อไรอย่าลืมควักออกมาซ่อมแซมก็แล้วกัน

4. ช่วยด้วย ต้นไม้บ้านหนู เขากำลังจะตายกันหมด
– อย่าให้ปุ๋ยเด็ดขาด (ทั้งปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ปุ๋ยธรรมชาติ) เพราะน้ำท่วมทำให้รากต้นไม้อ่อนแอ เขาต้องการเวลาพักฟื้นตัว ไม่ใช่ต้องการปุ๋ย (อย่างคนอาการโคม่า ย่อมไม่ต้องการรับประทาน สเต๊ก เนื้อสันฉันนั้น)

 

– ขุดหลุมเล็กขนาดลึกสัก 50 ซม. ถึง 1 เมตร ไว้ข้างๆ ต้นไม้นั้น เพื่อให้น้ำที่ขังอยู่บริเวณรากไม้ไหลลงสู่หลุมที่เราขุดเป็นการช่วยอาการรากสำลักน้ำได้ แล้วก็คอยเอาเครื่องดูดน้ำเล็กๆ (ภาษาชาวบ้านเรียกเจ้าเครื่องนี้ว่า ไดรโว่) คอยสูบน้ำออก แต่หากไม่มีกะตังจะซื้อเครื่องสูบน้ำนี้ก็ต้องออกแรงขุดหลุมกว้างหน่อย (อย่ากว้างมากจนต้นไม้เขาล้ม) แล้วใช้ขันหรือถังค่อยๆ เอื้อมมือตักน้ำออก

 

– หากเห็นว่า รากต้นไม้ไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะยึดลำต้นเอาไว้ กรุณาอย่าอัดดินลงไปให้แน่นเป็นอันขาด ต้นไม้เขาจะรีบๆ ตายทันที ให้ใช้วิธีดามหรือค้ำยันลำต้นเอาไว้แทนรอจนรากเขาแข็งแรงเหมือนเดิมแล้วจึงเอาไม้ดามไม้ค้ำยันออก

5. ปาร์เกต์บ้านดิฉัน กลายเป็นปลาลอยน้ำน่าปาทิ้งมั๊ยคะ?
ปาร์เกต์เป็นไม้ซึ่งอยู่ได้ด้วยกาว ดังนั้นพื้นปาร์เกต์จึงเป็นพื้นที่อ่อนแอกับอาการน้ำท่วมอย่างยิ่ง เพราะทั้งไม้ก็จะบวมขึ้นมากาวก็จะหลุดล่อน หากน้ำท่วมสัก 5-7 วัน นอกจากปาร์เกต์จะหลุดล่อนลอยน้ำปูดโปนขึ้นมาแล้วยังจะมี อาการ “บูดเน่า” ให้เกิดกลิ่นเหม็นและอาจเป็นอันตรายได้ แต่ไม่มาก

หากปาร์เกต์เปียกน้ำสักเล็กน้อย ไม่ถึงกับหลุดล่อนให้เช็ดทำความสะอาด แล้วปล่อยทิ้งไว้ เปิดหน้าต่าง ประตู ให้อากาศถ่ายเทความชื้นออกไป ไม่กี่วันปาร์เกต์ก็อาจเข้ารูปเดิมปกติได้ อย่าเอาน้ำมันหรือแลคเกอร์หรือแว็กซ์ไปทาทับตอนที่ปาร์เกต์ยังชื้นอยู่ เพราะสารเหล่านั้นจะไปเคลือบผิวไม้ ทำให้ความชื้นในเนื้อไม้ (และเนื้อพื้นคอนกรีต ใต้ปาร์เกต์) ไม่ระเหยออกมา

หากปาร์เกต์มีอาการหนัก บิดงอ ปูดโปน เบี้ยวบูด ผุกร่อน เหม็นเน่า เลาะออกมา หากเลาะออกมาแล้วยังอยู่ในสภาพดีก็ผึ่งลมเอาไว้ให้แห้ง เผื่ออาจมีประโยชน์ในวันหลัง

หากเลาะพื้นปาร์เกต์ออกมีข้อคิดว่า หากจะปูอะไรทับแทนก็ต้องระวังเรื่องน้ำหนักของวัสดุที่จะปูแทนนั้นว่าหนักมากไหม หากหนักมากก็ต้องดูระบบโครงสร้างบ้านเราด้วยว่ามีความแข็งแรงไหม (ถามช่างผู้รู้ให้ช่วยดูก็ได้) เพราะปาร์เกต์นั้นเป็นไม้น้ำหนักเบา พื้นที่หนึ่งตารางเมตรอาจจะหนักเพียง 5 กิโลกรัม แต่พื้นหินอ่อนหรือแกรนิตน้ำหนักรวมปูนทรายที่ใช้ปูหนึ่งตารางเมตรอาจหนักตั้ง 120 กิโลกรัม

หากจะปูปาร์เกต์เช่นเดิมหรือปูวัสดุอื่นที่ใช้ “กาว” เป็นตัวประสาน กรุณาอย่าปูทับลงทันทีต้องรอให้พื้นคอนกรีตแห้งก่อน (อาจใช้เวลาเป็นเดือน) แล้วจึงปูลงไปได้ ไม่เช่นนั้นรับรองว่าปูเท่าไรลงไปก็ล่อนออกมาเท่านั้น

6. ปลั๊กไฟบ้านผม น้ำท่วมไม่เป็นไร น้ำลดจะเป็นไรมั๊ย ?
ในขณะที่น้ำท่วมนั้น ท่านปิดวงจรไฟฟ้าทั้งบ้าน (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ปิดคัทเอ๊าท์) น้ำท่วมก็คงไม่เป็นไรอยู่แล้ว เพราะไม่มีกระแสไฟฟ้าเดิน แต่พอน้ำลด อยากจะเปิดไฟใช้ คงหวั่นเกรงเหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร ผมขอสรุปแนวทางดังนี้ดีกว่า
– ลองเปิดคัทเอ๊าท์ให้มีกระแสไฟฟ้าเข้ามา (อย่าลืมต้องมีฟิวส์ที่คัทเอ๊าท์เสมอ) หากปลั๊กหรือจุดใดจุดหนึ่งยังชื้นหรือเปียกอยู่ คัทเอ๊าท์จะตัดไฟและฟิวส์จะขาดลองเปลี่ยนฟิวส์แล้วทิ้งไว้สัก 1 วัน ให้ความชื้นระเหยออกไปบ้างแล้วดำเนินการใหม่ หากคัทเอ๊าท์ยังตัดไฟเหมือนเดิม กรุณาตามช่างไฟฟ้าผู้รู้เรื่องมาแก้ไข (เสียเงินบ้างก็เป็นเรื่องจำเป็น) ดีกว่าเอาชีวิตเสี่ยงต่อไป
– หากผ่านข้อที่ 1 ลองทดสอบเปิดไฟฟ้าทีละจุด และทดสอบกระแสไฟฟ้าในปลั๊กแต่ละอันว่ามีไฟฟ้ามาปกติหรือไม่ (อาจหาซื้ออุปกรณ์ตรวจกระแสไฟฟ้า ขนาดเล็กจากห้างไฟฟ้าทั่วไป รูปร่างหน้าตาคล้ายไขควงมาเสียบทดสอบดูก็จะสะดวกดี) หากทุกจุดทำงานปกติก็ถือว่า สบายใจได้ไปอีกระดับหนึ่ง หากมีปัญหาบางจุด ก็อาจรอสักนิดให้ความชื้นระเหยออกเช่นข้อแรก (แต่หากพอมีเงิน กรุณาอย่าเสี่ยงเลยครับ)
– ดับไฟทุกจุดในบ้าน ปลดเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทั้งหมด แต่ยังคงเปิดคัทเอ๊าท์เอาไว้ แล้ววิ่งไปดูมิเตอร์ไฟฟ้าหน้าบ้านว่าเคลื่อนไหวหรือไม่ (อาจต้องรอสักพักโดยการจดตัวเลขหรือใช้โทรศัพท์ถ่ายรูปไว้) หากไม่เคลื่อนไหวแสดงว่า ไฟฟ้าในบ้านเราไม่น่าจะรั่ว แต่หากมิเตอร์หมุนแสดงว่า ท่านยังปิดการใช้ไฟฟ้าในบ้านท่านไม่หมด หรือไฟฟ้าตามสาย ตามท่อ ตามจุดบางจุดในบ้านท่านอาจจะรั่วได้รีบตามช่างไฟมาดูแล
– เรื่องไฟฟ้านี้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของเด็กเป็นเรื่องของคนขี้ขลาด ไม่ใช่เรื่องของผู้กล้าหาญ ดังนั้นกรุณาอย่าประมาท น้ำท่วมก็เสียหายมากพอแล้ว อย่าต้องมาจัดงานอัปมงคลตามหลังกันอีกเลย …ซีเรียสนะครับ !

7. น้ำลดแล้วประสาทเสียมาก พอมีกะตังทำยังไงกับระบบไฟฟ้าดี
ถือว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่ยังนับว่าโชคดีกว่าประชาชนอีกมากในประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรา เพราะระบบไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นกับการดำรงชีพ แต่มีอันตรายสูงและเข้าใจยาก ตรวจสอบยากเพราะเราไม่สามารถเห็น “ตัวกระแสไฟฟ้า” ได้เลย หากคุณพอจะมีงบประมาณในการปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าในบ้านหลังน้ำท่วม เราขอแนะนำดังต่อไปนี้
– หากมีงบประมาณน้อย ตัดปลั๊กไฟที่อยู่ระดับต่ำๆ ในบ้านออกให้หมด (อาจจะตัดทิ้งเลยหรือจะเลื่อนตำแหน่งปลั๊กนั้นขึ้นไปอยู่สูงกว่าพื้นห้องสักระดับ 1.10 เมตร ก็ได้)
– หากพอจะมีงบประมาณบ้างให้แยกวงจรไฟฟ้าออกเป็น 2 วงจร คือวงจรที่อยู่ด้านล่าง (ที่ซึ่งน้ำอาจจะท่วมได้) และวงจรที่อยู่สูงๆ (ที่น้ำไม่อาจท่วมถึง)
– หากมีงบประมาณหนักขึ้นไปอีก แยกวงจรไฟฟ้าออกเป็น 4 วงจร วงจรแรกสำหรับปลั๊กด้านล่าง (ยามน้ำท่วม) วงจรที่สองเป็นวงจรสำหรับจุดที่ใช้ไฟฟ้าทั่ว ๆ ไป (ที่น้ำไม่ท่วม) จุดที่สามสำหรับเครื่องปรับอากาศ (หากมี) เพื่อกันอาการไฟกระตุกเมื่อเครื่องปรับอากาศทำงาน จุดสุดท้ายเอาไว้ในครัวเพื่อยามออกจากบ้านนานนาน อยากปิดคัทเอ๊าท์จะได้ไม่ต้องปิดหมด เพราะปิดหมดเจ้าตู้เย็นในครัวก็จะหยุดทำงาน อาหารในครัวก็เน่าเสียหมดหรือยามเราไม่อยู่บ้าน อาจปล่อยทั้งกิจกรรมการใช้ไฟฟ้าไว้เพียงในครัวเท่านั้น

8. งูเงี้ยวเขี้ยวขอตะกวดแย้มังกรกิ้งกือ หนีน้ำมาอยู่เต็มบ้านเลย
– สัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดใหญ่พอควรทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษ อย่าพยายามไปจับหรือจัดการเอง ทำการป้องกันบ้านและป้องกันตัวไม่ให้พวกเขามาทำอันตรายเรา (เราในที่นี้หมายถึงสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราด้วยนะครับ) ให้ติดต่อหน่วยราชการอาสามาจัดการสัตว์ร้ายเหล่านี้
– แมลงต่างๆ ตั้งแต่ยุง แมงมุม ฯลฯ หรือแม้แต่มด ต้องไม่ให้เข้ามาในบ้านเรา ต้องพยายามปิดประตูหน้าต่าง ปิดรู ให้ดีเท่าที่จะทำได้
– สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ที่ไม่เป็นอันตรายที่หลงทางมา เช่น สุนัข แมว แล้วหลังจากนั้นค่อยพิจารณาว่าเราจะต้องทำอย่างไรต่อไป (เช่นหาเจ้าของเดิม หาเจ้าของใหม่ ฯลฯ)

9. ส้วมราดไม่ลง ส้วม ส้วม ส้วม ส้วม
– หากส้วมของท่านเป็นระบบบ่อเกรอะ-บ่อซึม (หมายถึงเมื่อของเสียย่อยสลายแล้วจะซึมผ่านสู่พื้นดิน) แล้ว บ่อซึมของท่านวางอยู่ในบริเวณที่พื้นดินชุ่มฉ่ำ (อาจจะเพราะน้ำท่วมก็ได้) สิ่งที่เกิดก็คือ บ่อซึมไม่ยอมซึมน้ำออก ปัญหาที่ตามมาก็คืออาการ “ตุ๊บป่อง” ราดส้วมไม่ลงใช้ส้วมไม่ได้ ส้วมจะเต็มบ่อยนั่นเอง แก้ไขได้ 2 ประการคือ หากพื้นดินชุ่มฉ่ำเพราะน้ำท่วมรอให้พื้นดินแห้งสักหน่อย แต่หากพื้นดินชุ่มฉ่ำชื้นตามธรรมชาติของพื้นที่ ก็กรุณาเปลี่ยนระบบมาใช้เป็นระบบเครื่องกลสำหรับย่อยสลาย (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ถังส้วมสำเร็จ) ซึ่งจะทำหน้าที่ย่อยสลายปฏิกูลต่างๆ จนเป็นน้ำสะอาด แล้วก็ปล่อยลงท่อระบายน้ำสาธารณะได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

– หากโถส้วมอยู่ระดับต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับระดับบ่อเกรอะหรือถังส้วมสำเร็จรูปทำให้ระนาบของท่อส้วมไหลไม่สะดวก หรือบางครั้งอาจจะมีอาการไหลย้อนกลับ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามน้ำท่วมทำให้ระดับน้ำ ณ ถังส้วมอาจสูงกว่าระดับโถส้วม) ทำให้เกิดอาการราดไม่ลงหรือตอนกดน้ำ ราดน้ำที่โถส้วม ทำให้ในโถส้วมมีแรงดันสูงมากขึ้น หากน้ำไม่สามารถไหลลงไปได้ก็จะเกิดอาการแรงดันย้อนกลับทุกข์ทั้งหลายของเราจ ะกระฉอกขึ้นเปรอะเปื้อนได้
– อาจเกิดเพราะท่อส้วมแตกและอาจไปฝัง (หรือเกือบจะฝังในพื้นดิน) ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและราดส้วมไม่ลง หรือบางครั้งเกิดอาการที่ตัดสินใจยาก เพราะบางครั้งราดลงบางครั้งราดไม่ลง เพราะไปเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมอย่างมาก หากกรณีนี้เกิดขึ้นในขณะน้ำท่วมยิ่งตัดสินใจยาก เพราะวันไหน ทุกข์ของเรา มีน้ำหนักมาก วันนั้นก็อาจจะราดไล่ลงไปได้ วันไหนทุกข์ของเรา มีมวลน้อย มีน้ำหนักน้อย ทั้งเสือกไสไล่ ราดเท่าไรก็ดื้อ ไม่ยอมลงสักที- บางท่านอาจจะลืมใส่ท่ออากาศให้ส้วมหายใจ เวลาราดน้ำจะราดไม่ลง (เหมือนกับพยายาม กรอกน้ำใส่ขวด โดยไม่มีช่องอากาศ เหลือเลยที่ปากขวดจะกรอกน้ำไม่ลง) บางบ้านอาจจะมีท่ออากาศ แต่ท่ออากาศอาจอุดตันได้ ไม่ว่าจะเกิดจากความสกปรก หรือเกิดจากเศษผงเล็กลอยมาอุด ตอนที่น้ำท่วมก็ได้
– ขนาดของบ่อเกรอะบ่อซึมหรือถังบำบัดสำเร็จขนาดเล็กเกินไปหลายครั้งพบปัญหา เพราะใช้อาคารผิดประเภท เช่นออกแบบไว้ให้มีคนในบ้าน 5 คน แต่พอใช้จริงใช้เข้าไปตั้ง 8-9 คน ปริมาณทุกข์ต่างๆ จึงมากกว่าที่เคยคำนวณเอาไว้แต่แรก ถังส้วมจะเต็มบ่อยเต็มเร็ว เพราะมีช่องว่างน้อย ถ้าเป็นระบบบ่อซึมก็มีพื้นผิวการซึมน้ำออกน้อยน้ำจึงซึมออกไม่ทัน
– ท่านอาจใส่สิ่งของที่ไม่น่าจะใส่ลงในโถส้วมหรือสิ่งของบางอย่างอาจจะลอยมากับน้ำท่วม เช่นแผ่นผ้าอนามัย ถุงยางอนามัย ถุงมืออนามัย หรือแปรงขัดส้วมอนามัย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะไม่ย่อยสลาย และเป็นสาเหตุแห่งการอุดตัน- ถังบำบัดสำเร็จบางรุ่นบางยี่ห้อต้องใช้เครื่องมือกลเข้าปั่นอากาศเข้าไปช่วยการย่อยสลาย ซึ่ง อุปกรณ์เหล่านี้ต้องใช้กระแสไฟฟ้าเป็นตัวหนุนมอเตอร์ในขณะที่น้ำท่วมท่านอาจจะปิดไฟฟ้าไว้ ดังนั้น หากจะถ่ายทุกข์อย่างมีความสุข อย่าลืมเสียบปลั๊กไฟฟ้ากลับเข้าที่เดิม

– ถังบำบัดสำเร็จทุกยี่ห้อจะต้องมีท่อให้น้ำไหลออกจากถังบำบัดสู่ท่อระบายน้ำในบ้านเราหรือสู่ท่อสาธารณะ จะต้องตรวจเช็คว่าระดับของท่อที่ออกจากถังบำบัดว่า ต้องสูงกว่าระดับท่อระบายน้ำเสมอ มิเช่นนั้นจะเกิดอาการไหลย้อนกลับอีกแล้ว

10. ผมต้องตรวจสอบอะไรเกี่ยวกับระบบประปาบ้าง
ระบบประปาเป็นระบบที่เหมือนกับไม่มีปัญหา เพราะเหตุเกิดจากน้ำท่วมแต่หากมองข้ามไปอาจทำให้คุณสูญเสียชีวิตอันเป็นที่รักยิ่งไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านที่มีระบบประปาที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ขอแนะนำการตรวจสอบดังต่อไปนี้
– คุณมีบ่อน้ำใต้ดินหรือถังเก็บพักน้ำที่อยู่ในระดับที่น้ำท่วมถึงหรือไม่ หากคุณมีก็ขอให้นึกเสมอว่า น้ำที่ท่วมถึงนั้นมิได้สะอาดเหมือนน้ำประปา (กรุณาอย่าฉุนเฉียวกลับว่า น้ำประปาบ้านเรานั้นแสนจะไม่สะอาด) ขอให้ทำการล้างถังน้ำที่น้ำท่วมถึงให้สะอาดทั้งภายนอกภายใน (หากเป็นบ่อใต้ดินล้างเฉพาะภายในถัง) อย่าเสียดายแรงงานหรือเสียดายน้ำเลยนะครับ
– บ้านที่มีระบบปั๊มน้ำ กรุณาตรวจสอบอุปกรณ์ปั๊มรวมถึงถังอัดลมว่าอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดี การตรวจสอบขั้นต้นอาจจะตรวจสอบจากเสียงเครื่องจักรทำงานว่าผิดปกติหรือไม่ ตรวจสอบแรงดันน้ำ ว่าเหมือนกับสมัยที่น้ำไม่ท่วมหรือไม่ตรวจสอบถังลมว่า สามารถเก็บแรงอัดได้ดีและยาวนานตามที่น่าจะเป็นหรือไม่ …หากมีสิ่งผิดปกติอาจจะต้องปรับ
– ถ่ายระดับน้ำระดับแรงดันในหม้อลมอีกทั้ง น่าจะตรวจสอบดูว่า มีเศษผงที่ลอยมากับน้ำท่วมติดอยู่หรือเปล่า
– หากกรณีที่ปั๊มน้ำถูกน้ำท่วมไม่น่าจะใช้การต่อไปโดยทันที เพราะจะมีอันตรายจากความชื้นในตัวมอเตอร์ที่อาจยังสะสมอยู่ น่าจะไปหาช่างมาตรวจสอบทำให้แห้งเสียก่อน ถ้าช่างยังไม่ยอมมาและคุณพอรู้เรื่องเครื่องจักรกลบ้างก็ถอดเอาไปให้เขาตรวจเช็ค (กรุณาอย่าเอาไปตากแดด แล้วคิดไปเองว่า ความชื้นหมดแล้ว เป็นอะไรขึ้นมา ยามร้ายเมื่อหนีน้ำท่วมทันแต่ไฟกลับไหม้บ้านหมดครับ)

ที่มา – tcdcconnect.com

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

Home Tip : คู่มือพื้นฟูบ้านหลังน้ำท่วม ของ HOME PRO
การกำจัดรอยดำของบานประตูหน้าต่าง UPVC เนื่องจากน้ำท่วม
CLIP : การซ่อมแซมงานสีหลังน้ำท่วม ของ TOA
รวมคู่มือการจัดการบ้านหลังน้ำลดจากหลายหลายสถาบัน
Home Tip : คู่มือตรวจสอบและซ่อมแซมงานสีหลังน้ำท่วม (ระบบพื้นผิว ปูน, ไม้, เหล็ก) ของ สีTOA
5สิ่งสำคัญที่ต้องตรวจสอบอาคารบ้านเรือนหลังน้ำลดเบื้องต้น
เสริมฮวงจุ้ยให้บ้านหลังน้ำลด
วอลล์เปเปอร์จมน้ำเป็นคราบจะแก้ไขอย่างไร
งบประมาณการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม
เชื้อราหลังน้ำลด จะต้องกำจัดอย่างไรบ้าง
วิธีแกะซิลิโคนออกจากประตูหน้าต่างเมื่อน้ำลด
บานประตูบวม เนื่องจากน้ำท่วมต้องแก้ไขอย่างไร
น้ำท่วมแล้ว น้ำลดแล้ว บ้านมีปัญหา เริ่มต้นที่ไหนดี ตอนที่2
การใช้ชิวิตกับน้องน้ำ
ทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด ต้องเตรียมอะไรบ้าง
EmBall แท้จริงแล้วใช้ได้ผลจริงๆหรือไม่ ??
8จุดที่ต้องตรวจเช็คเมื่อส้วมตัน
วิธีกำจัดยุงและวิธีดักยุง ช่วงน้ำท่วม
เมื่อน้องน้ำมาตายอยู่ข้างบ้านผม!!!
ราคาค่าแรงและงานจ้างเหมาสำหรับการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วมแบบไม่ถูกผู้รับเหมาโก่งราคา
น้ำท่วมแอร์จะต้องทำอย่างไรดี
การขัดผนังบ้านหลังน้ำลดโดยใช้น้ำEM+กรดสับปะรด
เฟอร์นิเจอร์จมน้ำจะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไหม
Home Tip : สูตรขัดบ้านหลังน้ำท่วมแบบสะอาดหมดจด
คำเตือนเมื่อน้องน้ำกำลังจะกลับมา (2012)
การจ่ายเงินชดเชยน้ำท่วมปี 54 ครัวเรือนละ 5,000 บาท
ปั๊มน้ำโดนน้ำท่วม ต้องตรวจสอบอะไรบ้าง
การพื้นฟูสวนและต้นไม้หลังโดนน้ำท่วม

About nucifer

วิศวกรโยธาปฎิบัตการ สำนักการโยธา กทม / วิศวกรบริษัทไอเดียแปลนสตูดิโอ ขายแบบบ้านสำเร็จรูปและสร้างบ้านด้วยใจ // รักบอลไทย และ เทคโนโลยี่ // สอบถามเรื่องบ้านได้ครับ