น้ำท่วมแล้ว น้ำลดแล้ว บ้านมีปัญหา เริ่มต้นที่ไหนดี ตอนที่2

 

บังเอิญผมไปเจอบทความดีๆของ อ.ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ เกี่ยวกับการแก้ไขบ้านหลังน้ำท่วมลองไปดูกันครับ

11.ผนังบ้านแช่น้ำนาน ๆ เป็นอะไรมั๊ย จะแก้ไขดูแลอย่างไร
วัสดุที่ใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเกือบทุกอย่าง หากแม้โดนแช่น้ำไว้นานๆ ย่อมต้องมีอาการเสื่อมสภาพไปมากบ้างน้อยบ้าง ตอบคำถามที่ว่าผนังและสีทาบ้านที่ถูกน้ำท่วมแล้วเป็นอะไรหรือไม่ คงตอบว่า “เป็นอะไรแน่นอน” ขอให้คำปรึกษาในการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้
– หากผนังทำด้วยไม้ ไม่ต้องทำอะไรมากปล่อยให้แห้งก็เพียงพอแล้ว ยกเว้นแต่ส่วนที่อยู่ในระยะระดับที่น้ำขึ้นลงอาจจะผุไปบ้าง เมื่อน้ำในบ้านลดลงเอาผ้าเช็ดทำความสะอาดขจัดคราบความสกปรกออก เพื่อสุขภาพของคนในบ้านและเพื่อให้ผิวที่ทำความสะอาดแล้วสามารถระเหยความชื้นออกมาได้ง่าย ทิ้งไว้จนแน่ใจว่า ผนังของเราแห้งดี จึงใช้น้ำยารักษาเนื้อไม้ชโลมลงที่ผิว (อย่าทาแลคเกอร์หรือน้ำยารักษาเนื้อไม้หรือสีทาผนังก่อนที่จะให้ตัวผนังแห้ง เพราะจะทำให้น้ำและความชื้น ระเหยไม่ออก จะเกิดอาการ “ชื้นและผุฝังใน”) การทาสีหรือทายารักษาเนื้อไม้ อาจจะทาเฉพาะด้านในตัวบ้านก่อนก็ได้ แล้วทิ้งไว้สักหลายเดือน จึงค่อยทาสีภายนอกตัวอาคารเพื่อให้มั่นใจจริงๆ ว่าผนังของเราแห้งสนิทแล้ว

– หากผนังของท่านเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนก็ดำเนินการในระบบที่คล้ายกับผนังไม้ตามที่กล่าวแต่แรก แต่อาจจะต้องทิ้งเวลานานหน่อย เพราะการระบายความชื้นของผนังก่ออิฐนั้นยากกว่าผนังไม้มีสิ่งหนึ่งที่ผนังไม้อาจแตกต่างกับผนังก่ออิฐก็คือ “สิ่งที่อยู่ภายในผนัง” ไม่ว่าจะเป็นสายไฟฟ้า ท่อไฟฟ้า ท่อน้ำ ฯลฯ เราต้องตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ด้วยว่า อยู่ในสภาพเหมือนเดิม (รายละเอียดการดูแลตรวจสอบ กรุณาอ่านในข้อการตรวจสอบระบบไฟฟ้าและระบบสุขาภิบาล) การให้ความชื้นระเหยออกง่ายต้องพยายามไม่เอาสิ่งของหรือตู้ โต๊ะตั้งติดไว้ที่ผนัง

– หากผนังของท่านทำด้วยยิบซั่มบอร์ดจะต้องเข้าใจในพื้นฐานและธรรมชาติของแผ่นยิบซั่มบอร์ด เสียก่อนว่า เจ้าแผ่นนี้เป็นเพียงผงปูนยิบซั่มที่หุ้มด้วยกระดาษอย่างดี แต่ไม่ว่ากระดาษจะดีเพียงไร หากถูกน้ำท่วมสักพักเดียวรับรองว่าแอ่นยุ่ยกันเป็นแถว วิธีที่ดีที่สุดก็คือ เลาะเอาแผ่นยิบซั่มนี้ออกจากตัวโครงเคร่าผนัง หากเป็นโครงเคร่าที่ทำด้วยโลหะก็สามารถติดแผ่นใหม่เข้าแทนที่ได้เลย แต่หากโครงเคร่าเป็นไม้คงต้องทิ้งไว้สักหลายวันให้ความชื้นในโครงไม้นั้นระเหยออกเสียก่อน จึงค่อยบุแผ่นใหม่เข้าแทนที่

– ผนังที่ทำด้วยโลหะหรือผนังที่ทำด้วยกระจก ยามน้ำท่วมคงจะไม่เป็นอะไรมาก แต่เมื่อน้ำลดแล้ว น่าจะต้องตรวจสอบตามซอกตามรอยต่อว่ายังมีน้ำหรือเศษขี้ผงฝังในอยู่หรือไม่ หากมีก็ทำความสะอาดเสีย (สิ่งที่น่าจับตามองสำหรับผนังหรือโครงอลูมิเนียมก็คือ น้ำอาจขังในท่อของอลูมิเนียมครับ)

– ผนังชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นผนังกระดาษอัด ผนังสังกะสี ผนังไม้อัด ฯลฯ จะมีธรรมชาติคล้ายกับผนังทั้งสี่อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ลองเปรียบเทียบดูแล้วแก้ไขตามแนวทางนั้นๆ

12. สีทาบ้าน ทั้งสีน้ำ สีพลาสติก สีน้ำมัน ฯลฯ ต้องทำอะไรบ้าง
เรื่องขอการแก้ไขเกี่ยวกับสีทาบ้าน ขอให้เป็นสิ่งสุดท้ายหรือเกือบสุดท้ายที่เราจะซ่อมแซมบ้าน สีทุกชนิดที่เราใช้ทาบ้าน (ไม่รวมสีทาเรือ สีทาเครื่องบิน สีทาภายในถังน้ำ) เมื่อถูกความชื้นหนักๆ อย่างน้ำท่วมคราวนี้จะต้องมีอันเป็นไปเกือบทุกที่ ….

ข้อคิดสำคัญในเรื่องของสีทาบ้านก็คือ ปัญหาของสีลอกสีล่อน หลักๆ ไม่เกิดเพราะคุณภาพของสี แต่เกิดจากความไม่พร้อมของพื้นผิวที่ทาสี หากพื้นผิวที่จะทาสีเกิดความชื้นหรือมีสิ่งสกปรกติดอยู่ ทาสีทับลงไปอย่างไรก็ลอกก็ล่อนออกหมด

ดังนั้น ขอให้ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งทาสี ทำความสะอาดหรือลอกสีเดิมออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ลอกเฉพาะตรงที่มีปัญหาไม่ใช่ลอกหมดทั้งบ้าน) ทิ้งไว้นานๆ (อาจจะหลายเดือนจนถึงหน้าแล้ง ฤดูร้อนก็นับว่าไม่สายเกินไป)

13. เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า จมน้ำหมดเลย ทำไงดี
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า มอเตอร์ หรือเครื่องกลต่างๆ (อาจจะรวมได้ไปจนถึงรถยนต์ด้วยก็ได้) ล้วนแต่เป็นเครื่องจักรกลที่อย่างเราอย่างท่านไม่น่าประมาทหรือรู้มากเข้าไปแก้ไขซ่อมแซมเอง ขอความกรุณาอย่าเพิ่งใช้ความสามารถส่วนบุคคล

หากโดนน้ำท่วมแล้ว น้ำเจ้ากรรมไหลเข้าไปในเครื่องเรียบร้อยแล้ว (แถมยังแช่ไว้ด้วย) ถอดออกไปให้ช่างผู้รู้เขาตรวจสอบดูก่อนดีกว่า กรุณาอย่าประมาทเอาไปตากแดด แล้วคิดว่าแห้งแล้วเลยนำไปใช้ต่อ เพราะความชื้นบางส่วนอาจจะฝังอยู่ข้างใน พอเครื่องกลนั้นทำงานโดยใช้กระแสไฟฟ้าอาจทำให้เกิดปัญหากับตัวบ้านหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

นอกจากความชื้นที่ฝังอยู่ในตัวเครื่องแล้ว บรรดาฝุ่นผง เศษขยะหรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตบางประเภทก็อาจจะฝังตัวหรือแอบซ่อนตัว (หรือเสียชีวิต) ค้างอยู่ภายในเครื่องด้วย หากเดินเครื่องจักรกลหมุนอาจจะเกิดการติดขัดและมีการฝืนกำลังกัน เครื่องอาจจะเสียหรือไฟไหม้ได้ (อาจจะไม่ได้เกิดโดยทันที แต่จะเกิดขึ้นภายหลังได้)

หากแม้นจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องใช้เครื่องจักรกลนั้น(ซึ่งผมหวังว่าคงจะไม่มี) ยามจะใช้เครื่องกลเหล่านั้นน่ามีข้อคิด 3 ประการ คือ
1. ตลอดเวลาที่ใช้ต้องมีผู้ใหญ่ที่พอรู้เรื่องไฟฟ้าและเครื่องจักกลพื้นฐานอยู่ใกล้ๆเสมอ และอย่างน้อยน่าจะมี 2 คนครับ เมื่อเกิดอะไรผิดปกติขึ้นมาต้องดับเครื่องปิดเครื่องโดยทันที

2. ที่คัทเอ๊าท์ไฟฟ้าของตัวเครื่องและคัทเอ๊าท์หลักของตัวบ้าน จะต้องมีฟิวส์ตัดไฟที่มีคุณภาพติดตั้งอยู่เสมอ เกิดไฟฟ้าลัดวงจรต้องแน่ใจว่า วงจรไฟฟ้าจะถูกตัดออก

3. เมื่อไรไม่จำเป็นจริงๆ แล้วให้หยุดใช้เครื่องกลตัวนั้นทันที พอมีเวลาบ้างและพอมีงบประมาณ กรุณานำไปให้ช่างผู้รู้ตรวจสอบ

14. ประตูบ้านถูกน้ำท่วมบวมอลึ่งฉึ่ง ประตูเหล็กขึ้นสนิมหมดแล้ว
ขอให้คิดว่า ประตูหน้าต่างเวลาถูกน้ำท่วมจะเหมือนกับผนังที่ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน การที่ประตูไม้บวมเป่งขึ้นมาก็เหมือนกับผนังไม้หรือผนังยิปซั่มที่ปูดโปนขึ้น ส่วนประตูเหล็กที่ขึ้นสนิมนั้นก็เป็นเรื่องของโลหะที่แช่น้ำ เมื่อแห้งแล้วก็ต้องเป็นสนิมไปเป็นปกติธรรมดา แนวทางแก้ไขมีดังต่อไปนี้
– ประตูไม้หรือวัสดุที่เหมือนกับไม้ที่บวมขึ้นมาหรือผุพังก็เหมือนกับประตูห้องน้ำเรา ที่หลายๆ บ้านเป็น อันเกิดจากความชื้นในห้องน้ำ แก้ไขโดยการทิ้งไว้ให้แห้ง ซ่อมแซมพื้นผิวเท่าที่ตนเองจะทำได้หรือหากหมดสภาพจริง ๆ และพอมีงบประมาณบ้างก็ซื้อใหม่ เปลี่ยนแปลงเสียเลยก็ยังพอไหว

– ประตูเหล็กที่ขึ้นสนิมอาจจะไม่ถึงผุพัง (ยกเว้นแต่ผุมาก่อน) ก็จัดการขัดสนิมออกเช็ดให้สะอาดแห้ง แล้วทาสีใหม่ทับลงไปก็ถือได้ว่าเป็นอันเสร็จพิธี แต่ความน่าสนใจก็คือ ขอให้มั่นใจว่าน้ำหรือความชื้นได้ออกไปหมดแล้ว ทั้งในท่อโครงเหล็กหรือบริเวณรอยต่อต่างๆ

– ประตูพลาสติกหรือวัสดุสังเคราะห์  ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเป็นปัญหาเพราะวัสดุเหล่านั้นทนน้ำได้ แต่ที่ต้องตรวจสอบก็คือ อาจจะมีน้ำขังอยู่ภายในบานประตู(หรือหน้าต่าง) ระหว่างแผ่นสังเคราะห์ที่ประกบกันเป็นตัวบาน ต้องพยายามเอาน้ำออกให้หมดอาจจะต้องมีการเจาะรูเล็กๆ สัก 1-2 รู เพื่อให้น้ำระบายออกได้

– หากประตูเกิดเอียงหรืออาการที่ภาษาช่างเรียกว่า “ประตูตก” อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อประตูหน้าต่าง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำด้วยไม้หรือวัสดุที่อมน้ำ) แช่น้ำนานๆ ประตูจะอมน้ำ จึงทำให้ตัวบานนั้นน้ำหนักมากขึ้น บานพับรับน้ำหนักไม่ไหวประกอบกับตัววงกบ (โครงกรอบช่วงเปิด) เปื่อยยุ่ย เนื่องจากการแช่น้ำน๊อตหรือตะปูยึดเกาะได้ไม่เต็มที่บานเลยเกิดอาการเอียงลง…แก้ไขโดยพยายาม ใช้ค้ำยันหรือลิ่มเล็กๆ สอดช่วยรับแรงถ่ายน้ำหนักของบานเอาไว้ก่อน ค่อยๆ รอจนความชื้นระเหยออก น๊อตตะปูก็จะยึดติดดีขึ้น น้ำหนักบานก็จะน้อยลง อาการก็จะกลับมาเหมือนเกือบปกติ (อาจจะไม่ปกตินัก แต่ก็นับว่าไม่เป็นไร)

15. บานพับ ลูกบิด รูกุญแจ เหล็กดัด หลังน้ำท่วมต้องทำอะไรบ้างดี
เป็นคำถามที่ต่อเนื่องจากปัญหาที่แล้ว ซึ่งว่าด้วยเรื่องประตูหน้าต่างที่เกิดปัญหาขึ้นหลังน้ำท่วม บานพับ ลูกบิด กุญแจ เหล็กดัด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำด้วยโลหะก็เกิดปัญหาตามมา ขอตอบสั้น ๆ ง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
– เช็ดน้ำและพยายามให้ความชื้นระเหยออกให้หมด หรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

– หากเกิดสนิมตรงที่ใด ก็ขัดเอาสนิมเหล่านั้นออกเสียโดยเร็ว อย่าปล่อยทิ้งไว้ แต่ก็อย่าขัดแรงด้วยเครื่องมือขัดที่คมแข็งเกินไป เพราะอาจทำให้อุปกรณ์ประตูหน้าต่างที่ค่อนข้างบอบบางนั้นเสียหายได้ครับ

– ใช้น้ำยาหล่อลื่นสารพัดประโยชน์หยอดชโลม (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “โซเล็กซ์”)  ตามจุดต่อ ตามข้อต่อ ตามเฟือง และตามรูต่าง ๆ ให้ทั่ว (คงไม่ถึงขนาด เป็นมันเยิ้ม ๆ จะทำให้สิ่งของรอบข้างเลอะเทอะ และเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์)

– อย่าเพิ่งใช้จารบี หรือสารจำพวกขี้ผึ้งอุดหรือทา เพราะความชื้นทั้งหลายอาจจะยังระเหยออกไม่หมด จะทำให้ระเหยออก ได้ยากขึ้น ความชื้นเลยเกิดอาการ “ฝังใน” จะมีปัญหาภายหลัง

– หากยังเกิดปัญหาอีก กรุณาเริ่มทำใหม่ตั้งแต่ข้อแรกจนถึงข้อนี้ รับรองว่ากว่า 90 % ปัญหาจะไม่หนี ไปนอกรอบ ที่กล่าวไว้

16. แก้ไขอย่างไรได้บ้าง
ผมเชื่อว่าซีเรียสและเป็นเรื่องจริงครับ แต่ขอภาวนาให้เป็นการท่วมฝ้าเพดานของห้องใต้ดิน ไม่ใช่ฝ้าเพดานของบ้านชั้นที่สองนะครับ น้ำท่วมฝ้าเพดานนี้คงจะต้องใช้แนวทางแก้ไขคล้ายกับน้ำท่วมพื้นและท่วมผนังปนกัน สรุปความอีกครั้งได้ว่า
– ตรวจสอบถึงวัสดุฝ้าเพดานว่าทำด้วยอะไร หากเป็นวัสดุที่เปื่อยยุ่ยจากการถูกน้ำท่วมได้ เช่น ฝ้ายิปซั่มบอร์ดหรือฝ้า กระดาษอัดคงจะต้องเลาะออกแล้วเปลี่ยนใหม่ (หรือหากไม่มีงบประมาณก็ทิ้งเอาไว้โล่งๆ) หากเป็นฝ้าประเภทที่ไม่เปื่อยยุ่ยและอมน้ำ อมความชื้นมาก ก็พยายามผึ่งให้แห้ง อย่าทาสีหรือน้ำยากันความชื้น ระเหยออก หากเป็นฝ้าโลหะให้ตรวจสอบสนิมจัดการขัดหรือเช็ดออกให้หมด

– สำรวจฝ้าเพดานทั้งผืนทุกห้องทุกที่ว่ามีน้ำขังอยู่หรือไม่ (เจาะหรือเปิดฝ้าเพดานแล้วโผล่ศีรษะพร้อมส่องไฟฉายตรวจดู) หากพบต้องระบายน้ำออกให้หมดโดยทันทีทันใด (เจาะรูตรงที่น้ำเป็นแอ่งขัง ณ จุดนั้นนั้น) อย่าขี้เกียจตรวจเช็คเป็นอันขาด

– ฝ้าเพดานส่วนใหญ่จะมีสายไฟดวงโคมติดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นระบบเดินสายไฟฝังหรือสายไฟลอย ต้องตรวจสอบสภาพว่าดีสมบูรณ์ตามรายการที่เคยกล่าวไว้เรื่องของการตรวจสำรวจระบบไฟฟ้าหลังน้ำท่วม

– มดและแมลงตลอดจนหนูหรือสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ อาจหลบเข้าไปในฝ้าเพดาน (แล้วหาทางออกไม่ได้) ต้องทำการไล่ออกให้หมดจึงจะปิดฝ้าเพดาน ไม่เช่นนั้นอาจจะรบกวนและเป็นอันตรายภายหลังได้

17. มีน้ำผุดขึ้นกลางบ้าน แปลว่าอะไร ไม่เห็นสนุกเลย
หากเป็นผมก็คงจะไม่สนุกเหมือนกันละครับ เพราะอยู่ดีๆ ก็มีน้ำผุดขึ้นมากลางบ้าน ปัญหาที่คาดการณ์ (เพราะไม่ได้เห็นสถานที่จริง) น่าจะเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
– ระบบโครงสร้างเกิดอาการแตกร้าว ซึ่งอาจจะแตกร้าวอยู่เดิมแล้วหรืออาจจะเกิดการแตกร้าวจากแรงดันน้ำ อันเนื่องมาจากน้ำท่วม การแก้ไขก็คือพยายามหาแนวที่แตกร้าวนั้นให้พบ (ส่วนใหญ่จะเป็นรอยแตกที่พื้นหรือผนังส่วนล่าง) แล้วพยายามติดต่อสอบถามผู้รู้ต่อไป อย่าพยายามซ่อมเอง เพราะอาจยิ่งเกิดปัญหาและอาจเป็นอันตรายได้

– รั่วเนื่องจากรอยต่อของพื้นกับผนังไม่สนิทหรือระหว่างพื้นกับพื้นไม่สนิทกัน อาจเพราะระบบโครงสร้างอาคารเป็นโครงสร้าง ระบบพื้นสำเร็จที่ก่อสร้างไว้ไม่เรียบร้อยหรือเพราะเป็นระบบโครงสร้างเป็นระบบพื้นวางถ่ายน้ำหนักบนดิน (Slab on Ground) ซึ่งออกแบบให้เนื้อคอนกรีตพื้นไม่ต้องเชื่อมประสานกับคาน แต่ให้ถ่ายน้ำหนักพื้นลงไปที่แผ่นดินเลย โครงสร้างระบบที่ว่านี้ จึงอาจมีรอยรั่วตรงบริเวณรอยต่อ เพราะปูนทรายที่อุดไว้เสื่อมสภาพหรือเสียหายจากแรงดันน้ำ แนวทางแก้ไขคงต้องพยายามหาแนวที่น้ำรั่วเข้าให้ได้ (จะมีรอยหรือเส้นที่มีสีเข้มกว่าปกติ) แล้วอุดรอยเหล่านั้นให้เรียบร้อยอาจจะด้วยซิลิโคนที่ยาตู้ปลาก็พอไหว

– เกิดจากรูที่บริษัทกำจัดปลวกเขาเจาะเอาไว้ ตอนที่จะฉีดอัดน้ำยากำจัดปลวก แล้วไม่มีการอุดปิดให้เรียบร้อย แนวทางการแก้ไขก็คือจัดการอุดเสียให้เรียบร้อย

– ท่อน้ำที่ฝังในพื้นเกิดการรั่วแตก หมายถึง ที่พื้นห้องอาจจะมีการฝังท่อน้ำเอาไว้และอาจมีการขยับตัวของโครงสร้างทำให้ท่อแตกและแรงดันน้ำทำให้เกิดน้ำพุเล็กๆเกิดขึ้นที่พื้นห้องครับ กรุณาอย่าตกใจกับสิ่งที่เกิดนี้ พยายามหาเหตุให้พบแล้วแก้ไขเสีย หากยังหาเหตุไม่พบหรือหาพบแล้ว แต่แก้ไขไม่ได้ กรุณาติดต่อผู้รู้

 

18. เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ หลังน้ำท่วม
ขอให้คิดเสมือนว่า เฟอร์นิเจอร์นั้นเป็นเครื่องใช้เป็นพื้นบ้านและเป็นผนังบ้านอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นการแก้ไขเฟอร์นิเจอร์หลังน้ำท่วม ก็คงจะคล้ายกับการแก้ปัญหาเรื่องประตูหน้าต่าง เครื่องไม้ เครื่องมือ พื้นบ้าน ฝ้าเพดานบ้าน และผนังบ้านปนๆ กันไป สรุปข้อคิดและแนวทางการแก้ไขไว้ดังต่อไปนี้
– พยายามเอาความชื้นออกจากเฟอร์นิเจอร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้อย่างรวดเร็ว

– เฟอร์นิเจอร์ที่อมน้ำมากๆ เช่น โซฟานวมหรือนุ่นที่นอนหากไม่จำเป็นอย่าเอากลับมาใช้อีกเลย เพราะตอนน้ำท่วมจะพาเชื้อโรคและสิ่งไม่พึงประสงค์เข้าไปอยู่ภายในไม่น้อย แม้ตากแดดแห้งแล้ว เชื้อโรคร้ายก็อาจยังคงอยู่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้

– เฟอร์นิเจอร์ประเภทติดกับที่ (Built In Furniture) ขอให้แก้ปัญหาเหมือนผนังและประตูคือ ต้องตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างสายไฟที่อาจจะฝังอยู่ในตู้รูกุญแจและลูกบิดทำการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยเหมือนเดิมหรือใกล้เคียงของเดิม

– เฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้ไม่ควรเอาไปตากแดดโดยตรงเพราะจะทำให้แตกเสียหายได้ อีกทั้งยามจะทาสีทับลงไป ก็ขอให้มั่นใจว่า เขาแห้งแล้วจริงๆ ไม่เช่นนั้นสีจะลอกหมดความชื้นจะฝังใน

19. ห้องเครื่อง หม้อแปลงไฟฟ้า
น้ำท่วมลิฟต์ ห้องเครื่อง หม้อแปลงไฟฟ้าหรือส่วนที่เป็นเครื่องกลสำคัญต่างๆ ของอาคาร กรุณาอย่าซ่อมแซมเองให้เรียกบริษัทหรือช่างผู้รู้จริงมาตรวจสอบและแก้ไขเสีย จะต้องเสียงบประมาณเท่าไรก็ต้องยอมนะครับ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และห้ามประมาทเด็ดขาดนะครับ

20. อยากยกบ้านทั้งบ้านให้สูงขึ้น ทำยังไง อย่างไร เท่าไร
การยกบ้านให้สูงขึ้น หมายถึง การยกตัวโครงสร้างทั้งหมดของบ้านให้มีระดับหนีน้ำท่วมบ้านเป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหากจะทำเองถ้าบ้านของท่านไม่ใช่บ้านไม้และไม่ใช่บ้านที่มีน้ำหนักเบา เพราะหากเป็นบ้านที่ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก (ภาษาชาวบ้านเรียกว่าบ้านปูน) โครงสร้างของบ้านจะยึดติดเป็นเนื้อเดียวกัน หากยกบ้านขึ้น (ส่วนใหญ่จะด้วยแม่แรง แบบการยกรถยนต์) ตัวบ้านเอียง หรือบิด เพียงนิดเดียว บ้านก็จะแตกร้าว เสียหายวิบัติได้

นอกจากนั้น บ้านปูนจะมีน้ำหนักมาก ทำให้ต้องมีเสาเข็มยาวๆ มารับน้ำหนักบ้าน เสาเข็มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเสาเข็มปูนที่มีเหล็กเส้นผูกติดยึดไว้กับตัวฐานราก เมื่อยกตัวบ้านขึ้นก็เป็นเพียงการยกแต่ตัวบ้านไม่สามารถยกเสาเข็ ขึ้นมาด้วยการต่อฐานรากกับเสาเข็มใหม่ จึงเป็นเรื่องยากในอนาคตอาจมีปัญหาเรื่องบ้านทรุดบ้านร้าวได้

นอกจากเรื่องโครงสร้างแล้ว เมื่อยกบ้านปัญหาพวกสายไฟ ท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ก็จะเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องตามมาที่จะต้องตัดออกทั้งหมดแล้วต่อใหม่เข้าไป เมื่อยกระดับบ้านเสร็จเรียบร้อย หากท่อเหล่านี้อยู่ใต้พื้นบ้าน บริเวณกลางๆ บ้านย่อมจะตัดออกจากกัน ตอนจะยกบ้านได้ยาก หากตัดไม่หมดแล้วยกขึ้น ก็อาจไปดึงโครงสร้างของบ้านส่วนอื่นๆเสียหายได้

การต้องการจะยกระดับบ้านทั้งหลังขึ้นมา (บ้านปูน) เป็นเรื่องที่ต้องปรึกษาผู้รู้จริงและมีประสบการณ์เท่านั้น และส่วนผู้รับเหมาก่อสร้างก็ต้องเป็นผู้รู้จริงด้วย มิเช่นนั้นท่านอาจจะเสียบ้านไปทั้งหลัง ส่วนราคาค่ายกบ้านก็แล้วแต่ระดับที่ยกขึ้นแล้วแต่ขนาดของตัวบ้าน แล้วแต่ลักษณะของตัวบ้านโดยทั่วไปราคาจะประมาณ 20% ถึง 400% ของราคาตัวบ้าน

ส่วนบ้านไม้นั้น หากใช้เทคนิคไทยเดิมของเราผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ใช่เป็นเรื่องยากนัก (บ้านไม้ แปลว่าทั้งโครงสร้างและองค์ประกอบเป็นไม้ ไม่ใช่โครงสร้างเป็นปูนมีเพียงผนังหรือพื้นเป็นไม้เท่านั้น)

21.  “ฝ่าวิกฤติด้วยความคิดบวก”
ความคิดบวกหรือ Positive Thinking ฟังเสมือนกับเป็นลัทธิแก้อย่างหนึ่ง แต่ความจริงแล้วการมองภายในตนให้ครบถ้วนทุกด้าน แล้วเอาด้านที่เป็นบวกมาพิจารณาเป็นประเด็นในการจัดการปัญหา ชีวิตเราก็จะมีความสุขขึ้นไปพร้อมๆกับผู้รอบข้างและสังคมที่เราอยู่ร่วมนั้น

 

ที่มา – tcdcconnect.com

 

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

น้ำท่วมแอร์จะต้องทำอย่างไรดี
เสริมฮวงจุ้ยให้บ้านหลังน้ำลด
วิธีกำจัดยุงและวิธีดักยุง ช่วงน้ำท่วม
การใช้ชิวิตกับน้องน้ำ
การจ่ายเงินชดเชยน้ำท่วมปี 54 ครัวเรือนละ 5,000 บาท
วอลล์เปเปอร์จมน้ำเป็นคราบจะแก้ไขอย่างไร
ราคาค่าแรงและงานจ้างเหมาสำหรับการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วมแบบไม่ถูกผู้รับเหมาโก่งราคา
งบประมาณการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม
Home Tip : คู่มือพื้นฟูบ้านหลังน้ำท่วม ของ HOME PRO
การขัดผนังบ้านหลังน้ำลดโดยใช้น้ำEM+กรดสับปะรด
คำเตือนเมื่อน้องน้ำกำลังจะกลับมา (2012)
ปั๊มน้ำโดนน้ำท่วม ต้องตรวจสอบอะไรบ้าง
8จุดที่ต้องตรวจเช็คเมื่อส้วมตัน
การกำจัดรอยดำของบานประตูหน้าต่าง UPVC เนื่องจากน้ำท่วม
การพื้นฟูสวนและต้นไม้หลังโดนน้ำท่วม
5สิ่งสำคัญที่ต้องตรวจสอบอาคารบ้านเรือนหลังน้ำลดเบื้องต้น
เชื้อราหลังน้ำลด จะต้องกำจัดอย่างไรบ้าง
วิธีแกะซิลิโคนออกจากประตูหน้าต่างเมื่อน้ำลด
ทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด ต้องเตรียมอะไรบ้าง
เฟอร์นิเจอร์จมน้ำจะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไหม
CLIP : การซ่อมแซมงานสีหลังน้ำท่วม ของ TOA
Home Tip : คู่มือตรวจสอบและซ่อมแซมงานสีหลังน้ำท่วม (ระบบพื้นผิว ปูน, ไม้, เหล็ก) ของ สีTOA
EmBall แท้จริงแล้วใช้ได้ผลจริงๆหรือไม่ ??
Home Tip : สูตรขัดบ้านหลังน้ำท่วมแบบสะอาดหมดจด
เมื่อน้องน้ำมาตายอยู่ข้างบ้านผม!!!
รวมคู่มือการจัดการบ้านหลังน้ำลดจากหลายหลายสถาบัน
น้ำท่วมแล้ว น้ำลดแล้ว บ้านมีปัญหา เริ่มต้นที่ไหนดี ตอนที่1
บานประตูบวม เนื่องจากน้ำท่วมต้องแก้ไขอย่างไร

About nucifer

วิศวกรโยธาปฎิบัตการ สำนักการโยธา กทม / วิศวกรบริษัทไอเดียแปลนสตูดิโอ ขายแบบบ้านสำเร็จรูปและสร้างบ้านด้วยใจ // รักบอลไทย และ เทคโนโลยี่ // สอบถามเรื่องบ้านได้ครับ